ถือศีลอด ประเพณีของพี่น้องมุสลิมทั่วโลกเพื่อระลึกถึงเพื่อนมนุษย์
ถือศีลอด ประเพณีของพี่น้องมุสลิมทั่วโลกเพื่อระลึกถึงเพื่อนมนุษย์

“ถือศีลอด” ประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ในเดือนรอมฎอนที่เหล่าชาวมุสลิมปฏิบัติต่อเนื่องกันมายาวนาน การถือศีลอดเป็นพิธีการสำคัญที่ชาวมุสลิม เช่น ต้องงดเว้นจากการดื่ม กิน โดยงดเว้นในช่วงเวลากลางวัน หรือตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนถึงช่วงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ตลอดจนการงดการประพฤติตนผิดหลักศาสนา ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม
ขอบคุณข้อมูลจาก: โรงพยาบาลวิมุตเทพธารินทร์
บทความนี้จะพามารู้จักประเพณีถือศีลอดของศาสนาอิสลามให้มากยิ่งขึ้นว่ามีความสำคัญกับพี่น้องชาวมุสลิมอย่างไร พร้อมร่วมบริจาคกับ UNHCR เพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิมที่กำลังขัดสน ยากไร้ให้ได้มีอาหารและน้ำเพียงพอสำหรับการละศีลอดในเดือนอันศักดิ์สิทธิ์
รู้จักการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม
การถือศีลอด หมายถึง การละเว้นความชั่วผิดศีลทั้งปวง การประพฤติตนภายใต้หลักของศาสนา และการอดอาหารเพื่อบำเพ็ญตน ซึ่งประเพณีถือศีลอดนี้จะจัดขึ้นในทุกเดือนรอมฎอน หรือเดือน 9 ตามปฏิทินฮิจเราะห์ หรือปฏิทินจันทรคติของชาวมุสลิม โดยมีการยึดถือว่าเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของปี
การถือศีลอดของชาวมุสลิมนั้นเกิดจากความเชื่อที่ว่าในช่วงเดือนรอมฎอน พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานมอบคัมภีร์อัลกุรอานให้แก่นบีมูฮัมหมัด ผู้เป็นศาสดาของศาสนาอิสลามในช่วงเวลานั้น เพื่อให้นำหลักคำสอนต่าง ๆ มาเผยแพร่ให้แก่ศาสนิกชนชาวมุสลิมทั่วโลก ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ ชาวมุสลิมจึงยึดถือเป็นเดือนถือศีลอดเพื่อบำเพ็ญตนบูชาให้แก่พระผู้เป็นเจ้า
ทำไมชาวมุสลิมต้องถือศีลอด?
ชาวมุสลิมต้องปฏิบัติตามประเพณีการถือศีลอดโดยการอดอาหาร รักษาศีล ประพฤติตัวดี ไม่ข้องเกี่ยวกับการกระทำที่ผิดประเวณีต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงคำสอนของนบีมูฮัมหมัด แสดงถึงความศรัทธาแก่อัลเลาะห์ และยังเป็นการบูชาพระผู้เป็นเจ้าด้วยการศึกษาคัมภีร์อัลกุรอานอย่างเคร่งครัด เพื่อตอบสนองความเมตตาของอัลเลาะห์ผู้อยู่สูงสุดทางศาสนา
ขอบคุณข้อมูลจาก: ThaiPBS
ถือศีลอด ความสำคัญที่ชาวมุสลิมต้องปฏิบัติตาม
การถือศีลอดไม่เพียงเป็นการบำเพ็ญตนและเข้าถึงคำสอนของศาสดานบีมูฮัมหมัดเท่านั้น แต่พิธีการปฏิบัติอย่างการฝึกสติบำเพ็ญตน และการอดกลั้นต่อความโทสะหรือความปรารถนาต่าง ๆ ยังส่งผลต่อทั้งทางร่างกายผู้ปฏิบัติและสังคม และการระลึกถึงความทุกข์ยากของพี่น้องที่กำลังเผชิญความยากลำบาก เป็นช่วงเวลาแห่งการฝึกตนและการให้ที่ศุกดิ์สิทธิ์ ชาวมุสลิมจึงยึดถือประเพณีนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน
การถือศีลอดส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย และมีข้อดีอย่างไร
ในช่วงเวลาปกติแต่ละวันอาจรับประทานอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ หรือดื่มเครื่องดื่มมากจนเกินพอดี ทำให้ส่งผลในด้านสุขภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักเกิน โรคที่จากการดื่มแอลกอฮอล์ และระบบขับถ่ายผิดปกติ การถือศีลอดโดยการอดอาหารในช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้พฤติกรรมการกินถูกปรับให้พอดีกับความต้องการ และยังถือเป็นการปรับสมดุลร่างกาย ลดพฤติกรรมการดื่มที่ไม่ดีไปในตัวได้
นอกจากนี้ การถือศีลอดยังช่วยให้ผู้คนเลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เนื่องจากหลักปฏิบัติจะไม่สามารถรับประทานในช่วงกลางวันได้ การเลือกอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอต่อวันจึงเป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมให้ความสำคัญแทนการกินทีละมาก ๆ หรือกินแต่สิ่งที่อยากกิน รวมถึงฝึกความตรงต่อเวลาในการรับประทานอาหารแต่ละมื้ออีกด้วย
การถือศีลอดส่งผลให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในด้านใด
เนื่องจากพิธีการถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนนี้ ชาวมุสลิมต้องละเว้นเครื่องดื่มมึนเมาและสิ่งเสพติด รวมถึงงดเว้นการร่วมประเวณีระหว่างชายหญิง การปฏิบัติตนดังกล่าวจึงช่วยจัดระเบียบพฤติกรรมคนในสังคม รวมถึงลดอัตราการก่ออาชญากรรมที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อถึงการบริจาคหรือให้ทานในช่วงเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะส่งผลให้ผู้ให้ได้รับผลบุญที่เพิ่มพูนเท่าทวีคุณ
ขอบคุณข้อมูลจาก: ThaiPBS และ https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/22428
การถือศีลอด มีหลักปฎิบัติอย่างไร?

หลายคนอาจยังมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนเกี่ยวกับวิธีการถือศีลอด หรืออาจเข้าใจว่าพี่น้องชาวมุสลิมไม่สามารถรับประทานอาหารได้เลยในตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการถือศีลอดนั้นมีทั้งข้อปฏิบัติและข้อห้ามที่ทำให้ชาวมุสลิมสามารถถือศีลอดได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายมากจนเกินไป ดังต่อไปนี้
สิ่งที่ควรปฏิบัติในการถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอน
- ตรวจร่างกายทั้งก่อนเข้าเดือนรอมฎอนและหลังจากสิ้นสุดพิธีถือศีลอด เพื่อจัดการมื้ออาหารให้เหมาะสมกับร่างกาย
- มีความตรงต่อเวลาในการรับประทานอาหาร โดยควรรับประทานซูโฮร์หรือมื้ออาหารก่อนรุ่งสางให้เรียบร้อยก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
- รับประทานอย่างพอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
- งด ละเว้นชา กาแฟ หรือสิ่งเสพติดอย่างบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ฝึกสติ มีความอดทนต่ออารมณ์โกรธและความลุ่มหลง
- ไม่พูดจาว่าร้ายผู้อื่น จัดการความคิดให้เป็นไปทางบวก
- เข้าพิธีละหมาดตามกำหนดการอย่างต่อเนื่อง
- บริจาคอาหารหรือให้ทานแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ที่ถือศีลอดร่วมกัน
ข้อห้าม สิ่งละเว้นที่ไม่ควรทำในระหว่างการถือศีลอด
- ละเว้นการรับประทานอาหารและดื่มน้ำในช่วงเวลากลางวัน ส่วนการกลืนน้ำลายสามารถทำได้
- ห้ามกระทำการใดที่ทำให้อาเจียนโดยเจตนา เช่น ล้วงคออาเจียน
- ห้ามร่วมประเวณีระหว่างชายหญิง
- งดเสพสิ่งเสพติด บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ห้ามเอาสิ่งใดเข้าสู่บริเวณต่าง ๆ ร่างกายลึกเกินโดยเจตนา เช่น เอาสิ่งของเข้าปาก จมูก เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการนอนหลับในช่วงถือศีลอดเวลากลางวัน เนื่องจากจะผิดจุดประสงค์ของการถือศีลอด
- งดประพฤติตนไม่ดีด้วยการว่าร้ายนินทาผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ เพราะการถือศีลอดคือการฝึกให้มีความอดทนต่อสิ่งยากลำบากต่าง ๆ
- ไม่ควรผัดวันประกันพรุ่ง หรือมีพฤติกรรมเกียจคร้าน
- ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อซาโฮร์ก่อนหมดเวลา เพราะการเร่งรีบรับประทานจะทำให้กระเพาะปรับตัวไม่ทัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: https://ramadan.muslimthaipost.com/article/24905
ถือศีลอด ช่วงเวลาในการรับประทานอาหารเป็นอย่างไร
การรับประทานอาหารในช่วงเวลาแห่งการถือศีลอด แบ่งออกเป็น 2 มื้อหลักในช่วงเช้าและหลังพระอาทิตย์ตก โดยการละเว้นอาหารจะทำในช่วงกลางวัน ดังนั้นจะมีการจัดมื้ออาหารเป็น 2 ช่วงเวลา ดังนี้
- ซูโฮร์ หรือก่อนรุ่งสาง
การรับประทานอาหารมื้อซูโฮร์ ควรเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เนื่องจากเป็นมื้อแรกของวันก่อนที่จะต้องไปทำงานหรือใช้พลังงาน จึงควรเลือกอาหารที่เหมาะสม ให้ความอิ่มท้อง และดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
อาหารที่ควรรับประทานในมื้อซูโฮร์ : ข้าวไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีต โปรตีนต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์, นม, ไข่, น้ำเต้าหู้และนมถั่วเหลือง
อาหารที่ควรเลี่ยงในมื้อซูโฮร์ : อาหารรสเค็มจัด มีโซเดียมสูง เพราะจะทำให้มีความกระหายน้ำระหว่างวัน รวมถึงเลี่ยงอาหารไขมันสูง มีเนยเป็นส่วนประกอบ หรือใช้วิธีการปรุงอาหารด้วยการทอด
- อิฟตาร์ หรือช่วงละศีลอดหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า
เนื่องจากเป็นมื้อที่จะได้รับหลังจากการถือศีลอดอาหารและใช้พลังงานมาตลอดวัน จึงควรเริ่มรับประทานอาหารเหลว หรืออาหารที่ย่อยง่ายเป็นอันดับแรกเพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารทำงานหนัก ที่สำคัญควรรับประทานอาหารช้า ๆ ไม่รีบร้อนจนเกินไปเพื่อให้กระเพาะอาหารปรับตัวสำหรับการรับอาหารได้
อาหารที่ควรรับประทานในมื้ออิฟตาร์ : ข้าวแป้งไม่ขัดสี อาหารที่ให้น้ำตาลและน้ำทดแทน เช่น แตงโม, มะเขือเทศ, แตงกวา และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในมื้ออิฟตาร์ : อาหารที่ปรุงด้วยการทอด อาหารแปรรูป และอาหารน้ำตาลสูง
ขอบคุณข้อมูลจาก: โรงพยาบาลวิมุตเทพธารินทร์ และ https://www.thaipbs.or.th/now/content/917
ถือศีลอดพร้อมกับการบริจาคเพื่อพี่น้องชาวมุสลิมที่ทุกข์ยาก

หนึ่งในข้อปฏิบัติที่ควรทำในช่วงการถือศีลอดคือการบริจาคและให้ทาน โดยจะมีการบริจาคอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ การบริจาคซะกาต และการบริจาคซอดาเกาะห์
- การบริจาคซะกาต คือ การบริจาคที่มีสัดส่วนตามข้อบังคับของหลักศาสนา โดยจะมีการกำหนดสัดส่วนว่าทรัพย์สินแบบไหนจะต้องบริจาคเท่าไหร่ เช่น ทรัพย์สินจำพวกเงินสด ทองคำ หุ้นสินค้า จะต้องบริจาค 2.5% ส่วนผลผลิตทางเกษตร จะต้องบริจาค 5-10% ขึ้นอยู่กับว่าใช้ชลประทานหรือไม่ ส่วนใหญ่ซะกาตจะเป็นการบริจาคเงินเพื่อให้ทุนทรัพย์เหล่านั้นได้ถูกแจกจ่ายเป็นกองทุนให้แก่ผู้ยากไร้ หรือชาวมุสลิมที่พลัดถิ่นฐานตามข้อกำหนดและคุณสมบัติตามพระคัมภีร์
สามารถคำนวณการบริจาคซะกาตได้ที่: https://unh.cr/6780f17b0
- การบริจาคซอดาเกาะห์ เป็นการบริจาคตามกำลังศรัทธา บริจาคเมื่อใดและตอนไหนก็ได้ จึงสามารถทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ
ขอบคุณข้อมูลจาก: สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม
ร่วมบริจาซะกาต และซอดาเกาะห์กับ UNHCR เพื่อส่งต่อความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและมั่นคงให้แก่พี่น้องชาวมุสลิมที่ต้องถือศีลอดในช่วงรอมฎอนและในทุก ๆ วันในช่วงที่ต้องหนีจากสงครามและอยู่ไกลจากบ้านได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะผู้ที่ยากจนขัดสน เด็กกำพร้าที่ลี้ภัยจากสงคราม รวมถึงแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลครอบครัวอย่างยากลำบาก ให้สามารถร่วมเฉลิมฉลองในเดือนอันศักดิ์สิทธิ์
ร่วมบริจาคในช่วงเดือนถือศีลอด ให้พี่น้องผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นกับ UNHCR
แม้ว่าการถือศีลอดจะเป็นช่วงเวลาสำคัญของพี่น้องชาวมุสลิม โดยการงดอาหาร ละเว้นความปรารถนา ความโกรธ หรือบำเพ็ญตนเพื่ออดทนต่อสถานการณ์ต่าง ๆ แต่สำหรับชาวมุสลิมที่ยากไร้ หรือพลัดถิ่นจากสงครามที่ตั้งใจถือศีลอดไปพร้อม ๆ กับพี่น้องมุสลิมทั่วโลกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากไม่ได้ได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหลังละศีลอด
เด็ก ผู้หญิง และครอบครัวชาวมุสลิมนับล้านคนที่ต้องประสบพบเจอปัญหาความยากไร้จากการพลัดถิ่นซึ่งเป็นผลพวงจากสงคราม พวกเขาไม่สามารถเข้าร่วมพิธีละหมาดพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวในช่วงเดือนรอมฎอน ซ้ำร้ายยังไม่มีโอกาสเข้าถึงอาหาร น้ำดื่มสะอาดละศีลอดที่ให้พลังงานเพียงพอต่อร่างกายสำหรับการอดอาหารทั้งวัน
บางครอบครัวมีเพียงผลอินทผาลัมกับน้ำเปล่าเท่านั้น ไม่มีวัตถุดิบที่มีสารอาหารมากพอที่จะให้พลังงานและความอิ่มท้อง ซึ่งส่งผลทั้งเรื่องการใช้ชีวิต และการนอนหลับที่ไม่เพียงพอจากการปล่อยให้ท้องหิวก่อนเริ่มต้นวันใหม่
นอกจากนี้ เมื่อถึงเวลาออกจากเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมจะมีการจัดวันอีฎิลฟิตริ หรือการฉลองละศีลอด เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าเดือนรอมฎอนได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยวันอีฎิลฟิตริถือเป็นวันหยุดทางศาสนา มีการจัดโต๊ะอาหารและเฉลิมฉลองใหญ่พร้อมหน้ากับครอบครัวและชุมชน ในขณะที่ผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมอาจไม่มีโอกาสได้รับสิ่งเหล่านี้
เพื่อให้พี่น้องผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นที่สูญเสียในสงครามสามารถเข้าถึงอาหาร น้ำดื่มสะอาดและปัจจัยสี่ในการดำรงชีพ UNHCR ทำงานเพื่อมอบความคุ้มครองและความช่วยเหลือ และเปิดระดมทุนในโครงการ “รอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต” เชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกคนมาร่วมบริจาคซะกาตและซอดาเกาะห์เพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น ให้ได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นในทุก ๆ ด้าน ตลอดจนเงินช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับนำไปใช้จ่ายในครอบครัว ให้สิทธิ์ในการตัดสินใจในการใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนสำหรับครอบครัวของพวกเขามากที่สุด และให้พวกเขาได้มีโอกาสในการร่วมฉลองเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อมกับพี่น้องชาวมุสลิมทั่วโลกด้วยร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์พร้อม
UNHCR เป็นหน่วยงานที่ได้รับฟัตวาให้รับซะกาตอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา
UNHCR เป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองฟัตวาอย่างถูกต้องเพื่อการรับบริจาคซะกาต โดยมีบัญชีของธนาคารอิสลามแห่งประเทศ ที่เปิดขึ้นโดยเฉพาะเพื่อรับบริจาคซะกาต 100% โดยไม่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมอบให้ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามบทบัญญัติของคัมภีร์อัลกุรอาน บทที่ 9 โองการที่ 60
ผู้มีคุณสมบัติและสิทธิ์ในการรับบริจาคซะกาตตามหลักศาสนา จะต้องตรงตามคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- ผู้ยากไร้ (ฟากีร) คือผู้ที่ไม่มีทรัพย์เลี้ยงชีพ หรือมีทรัพย์ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ
- ผู้ขัดสน (มิสกีน) คือผู้ที่มีทรัพย์แต่ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ อาจมีฐานะดีกว่าผู้ยากไร้เล็กน้อย
- ผู้ไร้อิสรภาพ เช่น ทาสที่ได้รับการไถ่ตัวจากนาย หรือใช้ซะกาตเพื่อไถ่ตัวปลดปล่อยทาส
- ผู้มีหนี้สิน สามารถรับทานซะกาตได้ทั้งผู้มีหนี้สินของตนเอง หรือผู้มีหนี้สินให้ผู้อื่น แต่มีเงื่อนไขคือซะกาตที่ได้รับจะต้องนำไปชำระหนี้เท่านั้น
- เจ้าหน้าที่ซะกาต คือ พนักงานที่มีหน้าที่เก็บรวบรวม และแจกจ่ายซะกาต โดยจะได้รับซะกาตตามอัตราค่าจ้าง
- ผู้ถูกดลใจให้เข้าอิสลาม โดยเป็นทั้งการมอบซะกาตเพื่อให้เข้ารับอิสลาม และมอบซะกาตเพื่อยึดเหนี่ยวให้อยู่ภายใต้ศาสนาอิสลามอย่างมั่นคง
- ผู้ที่ขาดกำลังทรัพย์ในการเดินทาง
- ผู้ที่ดำเนินงานตามหนทางของอัลเลาะห์
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://islamicfinancethai.com/ซะกาต-zakat/ผู้มีสิทธิรับซะกาต/
บริจาคผ่านบัญชีธนาคาร
การบริจาคเพื่อชาวมุสลิมในเดือนแห่งการถือศีลอด สามารถบริจาคได้ผ่านบัญชีซะกาต UNHCR โดยตรง ซึ่งเป็นบัญชีที่ผ่านการรับรองจากธนาคารอิสลาม ท่านจะมั่นใจได้ว่าเงินบริจาคของท่านจะถูกส่งต่อไปยังพี่น้องชาวมุสลิมผู้ยากไร้อย่างถูกต้อง
ธนาคาร : อิสลามแห่งประเทศไทย (iBank)
ชื่อบัญชี UNHCR Special Account
เลขที่บัญชี : 008-1-36212-9
สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่ : https://www.ibank.co.th/th/product/zakat/detail/zakat-management/unhcr
เมื่อโอนเงินบริจาคเรียบร้อยแล้วกรุณาส่งหลักฐานการโอนเงินมาที่ LINE ID: @UNHCRDonation
สามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคเพิ่มเติมได้ที่ LINE: @UNHCRThailand หรือทางอีเมล [email protected]
บริจาคออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์
การบริจาคสามารถทำได้โดยการบริจาคออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ UNHCR โดยจะมีทั้งการบริจาครายครั้ง และการบริจาครายเดือน
การบริจาครายครั้งจะสามารถระบุจำนวนในการบริจาคได้ ในส่วนของการบริจาครายเดือนจะเป็นการบริจาคต่อเนื่อง ซึ่งทุนทรัพย์ในส่วนนี้จะถูกนำไปรวบรวมเพื่อทำการช่วยเหลือและทำทานซะกาตให้แก่ชาวมุสลิมผู้ยากไร้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การบริจาคออนไลน์สามารถทำการชำระผ่านช่องทางต่าง ๆ บนเว็บไซต์ หรือตัดผ่านบัตรเครดิตธนาคารซึ่งมีความปลอดภัยสูงก็ได้เช่นกัน
ถือศีลอด พิธีทางศาสนาซึ่งหลอมรวมใจและการเป็นผู้ให้และเสียสละของชาวมุสลิมทั่วโลก
ประเพณีการถือศีลอดของชาวมุสลิมนั้นเป็นการบำเพ็ญเพื่อฝึกตนให้มีสติตามหลักคำสอนของนบีมูฮัมหมัดโดยการอดทนอดกลั้นต่อความหิวโหยจากการอดอาหาร และยังเป็นการทำความเข้าใจความลำบากของผู้ยากไร้ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารให้อิ่มท้องในแต่ละวัน ดังนั้นในช่วงเดือนรอมฎอน นอกจากการอดอาหาร ปฏิบัติตนตามคำสอน ชาวมุสลิมจึงมักบริจาคทำทานให้แก่พี่น้องชาวมุสลิมผู้ยากไร้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวมุสลิมที่ต้องลี้ภัยจากสงคราม พลัดถิ่นจากครอบครัว ต้องถือศีลอดในภาพแวดล้อมและในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพื่อขยายความช่วยเหลือและโต๊ะอาหารละศีลอดต้อนรับครอบครัวที่ยากลำบาก UNHCR ร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยและพันธมิตรสนับสนุนการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ลี้ภัยทั่วโลก
นอกจากการมอบความคุ้มครองและปัจจัยสี่ UNHCR ยังให้ความช่วยเหลือชาวมุสลิมด้วยการมอบเงินช่วยเหลือฉุกเฉินเพื่อต่อชีวิตและพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยที่กำลังลี้ภัยและพลัดถิ่นจากสงครามที่โหดร้ายซึ่งเงินบริจาคจากท่านจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยชีวิตและสนับสนุนการทำงานด้านมนุษยธรรมของ UNHCR
ร่วมบริจาคทานซะกาตและซอดาเกาะห์เพื่อช่วยพี่น้องผู้ลี้ภัยในเดือนรอมฏอนกับ UNHCR และบริจาครายเดือนเพื่อสนับสนุนการทำงานอย่างต่อเนื่อง