ไทยเดินหน้าแก้ปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติครั้งประวัติศาสตร์
ไทยเดินหน้าแก้ปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติครั้งประวัติศาสตร์

กรุงเทพฯ 7 พฤษภาคม 2568 – สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNHCR) มีความยินดีอย่างยิ่งกับการเปิดตัวแผนปฏิบัติการครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ณ ศูนย์ราชการ ถ. แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบนโยบายในงานสัมมนาตามโครงการเร่งรัดการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอรวมทั้งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด จำนวน 1,106 คน ร่วมรับฟังนโยบายเพื่อเตรียมพร้อมในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเร่งรัดกระบวนการการให้สัญชาติและการให้สถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ถิ่นที่อยู่ถาวร) แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวนกว่า 480,000 คน ซึ่งแบ่งเป็นการให้สถานะเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ถิ่นที่อยู่ถาวร) แก่ผู้ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานประมาณ 340,000 คน และให้สัญชาติแก่บุตรที่เกิดในประเทศไทยจำนวน 140,000 คน
การมอบนโยบายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับบริหารในส่วนภูมิภาคได้รับทราบถึงหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติและบทบาทที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบายในระดับจังหวัดและอำเภอ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวในงานโดยเน้นย้ำถึงหลักมนุษยธรรมและกฎหมายที่เข้มแข็งของประเทศไทย ว่า
“ประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ระบุถึงสิทธิที่จะมีสัญชาติ ประชาชนที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายมักจะถูกกีดกัน ลิดรอนการเข้าถึงสิทธิและโอกาส ตกอยู่ในสภาวะเปราะบางที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ การแก้ไขปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติมิได้เป็นเพียงภารกิจด้านมนุษยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมสร้างมิติด้านความมั่นคงของประเทศชาติและความสงบเรียบร้อยในสังคมด้วย”
นายอนุทิน ได้กล่าวถึงการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของพันธมิตรสากลเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดย UNHCR ในเดือนตุลาคม 2567 เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติภายในปี 2573 โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน สนับสนุนการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดกรอง และมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการด้วยความเข้มแข็งและมีความเห็นอกเห็นใจ
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ได้เห็นชอบในการเสนอให้มีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกันมากขึ้นในการเร่งรัดการกำหนดสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ถิ่นที่อยู่ถาวร) จากเดิมใช้เวลาดำเนินการ 270 วัน ให้เหลือเพียง 5 วัน และการกำหนดสัญชาติ จากเดิม 180 วัน ให้เหลือเพียง 5 วันเช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญที่มุ่งหวังที่จะปรับปรุงการเข้าถึงสิทธิของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายให้ดีขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อแก้ไขภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยหารือร่วมกับภาคประชาสังคม นักวิชาการและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ
“ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ และประเทศไทยได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยการมีนโยบายที่ชัดเจน ความกล้าหาญทางการตัดสินใจ และความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เราสามารถเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้” แทมมี่ ชาร์ป ผู้แทน UNHCR ประจำประเทศไทยกล่าว “เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องสถานะทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปลดล็อกศักยภาพ เรายินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินการด้วยความรวดเร็ว แน่วแน่ และครอบคลุมเพื่อบรรลุเจตนารมณ์ครั้งประวัติศาสตร์”
UNHCR ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อสนับสนุนความเป็นผู้นำของประเทศไทยในการแก้ไขภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ความร่วมมือล่าสุดรวมถึงการสนับสนุนชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่กลุ่มประชากรที่เข้าถึงยาก และในทางกลับกันยังช่วยเหลือชุมชนให้สามารถเข้าถึงหน่วยบริการเคลื่อนที่ได้ ในช่วงต้นปี 2568 UNHCR ได้มอบอุปกรณ์สำหรับชุดปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วยชุดคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ เครื่องอ่านบัตรและอุปกรณ์ไบโอเมตริกซ์ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานด้านสัญชาติและทะเบียนราษฎรของประเทศ ที่ผ่านมา UNHCR ยังได้สนับสนุนกระทรวงมหาดไทยในการจัดอบรมให้ความรู้ด้านสัญชาติและการกำหนดสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ถิ่นที่อยู่ถาวร) ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องหลักเกณ์และกระบวนการตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ตุลาคม 2567 ในภาษาชาติพันธุ์กว่า 10 ภาษา และสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดเป้าหมาย
ทั้งนี้ การสนับสนุนของ UNHCR ในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย รวมถึงการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ตุลาคม 2567 นั้นเกิดขึ้นได้จากความช่วยเหลือของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา
UNHCR ชื่นชมประเทศไทยที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเข้มแข็ง และ UNHCR ยังคงพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาเพื่อศักดิ์ศรีและสิทธิของทุกคนบนแผ่นดินไทย