ผู้ลี้ภัยเมียนมากลุ่มที่ 3 เดินทางกลับบ้านจากไทยด้วยการสนับสนุนจาก UNHCR

สัปดาห์นี้ คาดว่าผู้ลี้ภัยกว่า 500 คน  ในประเทศไทย จะได้เดินทางกลับประเทศไปยังตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมียนมา โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ นำโดยรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยการสนับสนุนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรพันธมิตร ครั้งนี้ เป็นการเดินทางกลับครั้งที่ 3 เพื่อมอบโอกาสในการสร้างชีวิตใหม่ในประเทศบ้านเกิดแก่ผู้ลี้ภัยหลังจากที่ต้องพลัดถิ่นมานานหลายสิบปีในประเทศไทย

ผู้ลี้ภัยจะออกเดินทางจากพื้นที่พักพิงจำนวน 5 แห่งบริเวณชายแดน และเดินทางข้ามแดนจากประเทศไทย ไปยังรัฐคะยิน และคะยาของประเทศเมียนมา เมื่อผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่เมียนมาบริเวณชายแดน พวกเขาจะเดินทางต่อไปยังศูนย์แรกรับ ที่ซึ่งพวกเขาได้รับความช่วยเหลือ อาทิ การมอบเอกสารในการเดินทางเข้าเมือง และการตรวจเช็คทางการแพทย์ และจากที่นั่น พวกเขาจะเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางของตน

จากสถานการณ์ที่พัฒนาในเชิงบวกบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา UNHCR จึงสนับสนุนกระบวนการเดินทางกลับที่นำโดยรัฐบาลมาตั้งแต่ปลายปีพ.ศ. 2559 โดยช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ได้แสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนว่าต้องการเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี

ผู้ลี้ภัยได้รับข้อมูล และคำปรึกษาเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ที่ต้องเดินทางกลับจาก UNHCR และองค์กรพันธมิตร นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยยังได้รับการสนับสนุนเรื่องการเดินทาง และการปรับตัวในการเดินทางกลับเบื้องต้นอีกด้วย จากความช่วยเหลือในการเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 และพฤษภาคม พ.ศ.2561 นั้น ผู้ลี้ภัยจำนวน 164 คนได้เดินทางกลับบ้านจากประเทศไทย และ UNHCR ยังคงติดตามการปรับตัวของผู้ลี้ภัยต่อสถานการณ์ในปัจจุบันในประเทศเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยความโอบอ้อมอารีของชุมชนท้องถิ่นที่ต้อนรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับ UNHCR จึงให้การสนับสนุนต่อการปรับตัวเข้าสู่สังคม อาทิ จัดทำโครงการในชุมชนภายในพื้นที่ที่รองรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับ โครงการเหล่านี้ จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อรองรับความต้องการของแต่ละชุมชน และออกแบบมาเพื่อสร้างและสนับสนุนโอกาสด้านการพัฒนาทักษะและอาชีพ ช่วยให้มีการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน รวมถึงลดความกดดันที่อาจเกิดจากผลกระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน

“ประเทศไทย ได้ทำหน้าที่เจ้าบ้านที่โอบอ้อมอารี มอบที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมาเป็นเวลาหลายปี การช่วยเหลือให้เดินทางกลับประเทศในครั้งนี้ ถือเป็นความคืบหน้าในการมอบโอกาสให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องการกลับบ้านได้เดินทางกลับอย่างปลอดภัย และสมศักดิ์ศรี” เจมส์ ลินช์ ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชีย และผู้ประสานงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

“UNHCR จะประสานงานเพื่อมอบทางออกให้แก่ผู้ลี้ภัยที่ตกอยู่ในสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนานในประเทศไทยต่อไป”

ปัจจุบัน ยังมีผู้ลี้ภัยกว่า 97,000 คน จากประเทศเมียนมา อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวจำนวน 9 แห่งบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ชาวกะเหรี่ยง และกะเหรี่ยงแดง

ติดตามการทำงาน: Facebook | LINE | Instagram | Twitter | TikTok

—–

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ [email protected], +662 2882811